
ขนาดห้องคอนโด วัดกันแบบไหนนะ
การเลือกซื้อคอนโดสักห้องหนึ่ง ไม่ใช่แค่ดูจากทำเลและราคาเท่านั้น แต่ “ขนาดของห้อง” ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะส่งผลโดยตรงต่อความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย รวมถึงการตกแต่งและใช้งานพื้นที่อย่างคุ้มค่า แต่คำถามสำคัญคือ ขนาดห้องคอนโดวัดกันอย่างไร
และสงสัยกันไหมว่า เวลาที่เราซื้อคอนโด เมื่อถึงกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ห้องที่สำนักงานที่ดิน ผังห้องที่อยู่บนหน้าโฉนดทำไมมีรูปร่างต่างจากแบบที่เราเห็นจากในแบบที่ขายในใบเสนอราคาหรือรูปตัวอย่างของโครงการ แม้แต่ขนาดห้องคอนโด ก็อาจจะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปบ้างเล็กน้อย ก็เนื่องจากว่าจะหักลบส่วนที่ต้องเป็นทรัพย์ส่วนกลางของตัวอาคารและโครงการออกไป เหลือเพียงส่วนที่เราจะถือครองได้จริงๆ เท่านั้น บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึกทุกแง่มุมของการวัดขนาดห้องคอนโดให้เข้าใจง่ายขึ้น

วิธีวัดขนาดห้องคอนโดแบบมาตรฐาน
ขนาดของห้องคอนโดจะถูกวัดจากพื้นที่ใช้สอยภายในยูนิต ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ และระเบียง (ถ้ามี) โดยวิธีที่ใช้กันทั่วไปมีดังนี้
การวัดพื้นที่ตามผังโครงการ (Gross Area) เป็นการวัดพื้นที่ทั้งหมดของห้องโดยรวม รวมถึงความหนาของผนังและเสาอาคารที่อยู่ภายในยูนิต ซึ่งบางโครงการอาจรวมพื้นที่ระเบียงเข้าไปด้วย วิธีนี้มักใช้ในการโฆษณาขนาดห้องเพื่อให้ตัวเลขดูใหญ่ขึ้น
การวัดพื้นที่ใช้สอยจริง (Net Area) เป็นการวัดเฉพาะพื้นที่ที่สามารถใช้สอยได้จริง โดยไม่นับรวมผนัง เสาหรือพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้งานได้ วิธีนี้จะให้ตัวเลขที่สะท้อนขนาดห้องที่แท้จริงมากกว่าและเหมาะกับการคำนวณการตกแต่งภายใน
การวัดตามกฎหมายอาคารชุด (NLA – Net Leasable Area) เป็นวิธีที่ใช้ในการกำหนดราคาขายหรือเช่าในบางโครงการ โดยคำนวณจากพื้นที่ที่ผู้พักอาศัยสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง โดยไม่นับส่วนที่เป็นโครงสร้างหลักของอาคาร
การนับพื้นที่ห้องคอนโดที่เราเป็นเจ้าของได้ จะอ้างอิงตามฉบับข้อกฎหมายอาคารชุด “พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522” โดยระบุในหมวด 2 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์ห้องชุด มาตรา 14 และ 15 ซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังด้วย “พระราชบัญญัติอาคารชุด ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551” และใจความเสริมส่วนอื่นๆ ใน “ระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยอาคารชุด พ.ศ. 2554 ” สามารถสรุปอย่างเข้าใจง่ายๆ ตามนี้
การนับพื้นที่ผนังด้านต่างๆที่รวมและไม่รวมเป็นพื้นที่ห้องคอนโด ขนาดห้องคอนโดส่วนที่นับรวมในโฉนด (พื้นที่ห้องเราถือครองได้) นับจาก
1. ผนังที่กั้นระหว่างห้องเรากับพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ผนังที่กั้นระหว่างโถงทางเดินกับห้องเรา ให้นับเป็นพื้นที่ห้องของเราด้วยทั้งหมด
2. ผนังที่กั้นระหว่างห้องของเรากับห้องคนอื่น ให้แบ่งเป็นกรรมสิทธิ์กันคนละครึ่ง โดยนับแนวจากกึ่งกลางเป็นหลัก
3. พื้นที่วางคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ ถ้ามีขอบเขตชัดเจนก็นับเป็นพื้นที่ห้องด้วย แต่หากไม่ชัดเจน ทำเป็นโครงเหล็กแขวนยื่นออกไปกลางอากาศ ไม่ต้องนับ หากว่าแขวนอยู่ในส่วนของระเบียงก็นับรวมกับระเบียง
4. พื้นที่จอดรถ สำหรับในครงการที่มีการจัดสรรช่องจอดรถแบบล็อคกรรมสิทธิ์ให้กับลูกบ้านซึ่งจะมีการวาดระบุเข้าไปในหน้าใบโฉนดด้วย แต่หากไม่มีจะนับว่าเป็นพื้นที่ส่วนกลาง
ขนาดห้องคอนโดส่วนที่ไม่นับรวมเป็นพื้นที่ห้อง ได้แก่พื้นที่ส่วนกลางของโครงการ ซึ่งลูกบ้านต้องใช้ร่วมกันไม่นับรวมในโฉนดห้อง ได้แก่
1. เสาและโครงสร้างอาคาร จะไม่นับรวมเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอาคารและเป็นส่วนกลางของโครงการ การนับกรรมสิทธิ์ให้วัดจากขอบผนังฝั่งด้านในห้องของเรา
2. ผนังฝั่งที่ติดกับภายนอกอาคาร หากไม่ได้มีระเบียงกั้นไว้อีกชั้นหนึ่งก็ถือว่าเป็นในส่วนของโครงสร้างอาคารเหมือนกับเสา ไม่นับรวมในโฉนด การนับกรรมสิทธิ์ให้วัดจากขอบผนังฝั่งด้านในห้องเช่นกัน หากเป็นยูนิตมุมตึกก็โดนหักพื้นที่ผนังออกไป 2 ด้าน
3. ผนังของปล่องลิฟต์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ส่วนกลาง
4. ปล่องท่อหรือช่องชาร์ฟ (Shaft) เช่น ปล่องท่อประปา ท่อเดินสายไฟฟ้า ถือเป็นโครงสร้างที่เป็นส่วนกลางของอาคาร ไม่นับแบ่งช่วงรวมเป็นของห้องใด เช่นเดียวกับ ผนังของช่องท่อ กับผนังของบันไดหนีไฟ แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางแต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอาคาร ไม่ได้นำมานับรวมแบบกรณีผนังหน้าทางเดิน การนับกรรมสิทธิ์ให้วัดจากขอบผนังฝั่งด้านในห้องเช่นกัน

การวัดขนาดห้องคอนโดไม่ใช่แค่ดูที่ตัวเลขตารางเมตรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาวิธีวัด พื้นที่ใช้สอยจริง การจัดวางพื้นที่ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย ซึ่งในหลายๆ กรณีด้วยตำแหน่งของแต่ละห้องภายในอาคารไม่เหมือนกัน ทำให้พื้นที่ขนาดห้องคอนโดขายสุทธิที่จะนับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของห้องจริงๆ ไม่เท่ากัน ซึ่งปกติทางโครงการมักจะระบุไว้ก่อนว่า “พื้นที่ห้องอาจมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลง” โดยเฉพาะพรีเซลล์ โดยหากการเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงนั่นเกิน 5% ของพื้นที่เดิมตามหน้าสัญญาขาย ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะปฏิเสธการรับโอนและเรียกร้องเงินดาวน์คืนได้ สำหรับโครงการที่ตึกเสร็จแล้ว พื้นที่ห้องก็จะชัดเจนแล้วไม่มีการปรับเปลี่ยนอีก
จะดีกว่าไหมถ้าเราไม่ต้องกังวลก่อนหลับว่าจะมาทำงานไม่ทัน แต่มีที่พักใกล้ที่ทำงาน อย่าง ฟินน์คอนโด ไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปวนหาที่จอดรถ ไม่ต้องเสียเวลากับการใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนนานๆ แม้งานจะยุ่งแค่ไหนก็ใช้เวลาไม่กี่นาทีเพื่อกลับถึงที่พักเพื่อพักผ่อน ซึ่งการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพเริ่มต้นด้วยการนอนหลับอย่างมีคุณภาพครับ