เคล็ดลับจัดห้องนอน จัดห้องอย่างไรให้น่านอน
การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด มนุษย์ต้องการการนอนหลับอย่างน้อยวันละ 5-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาปรับสมดุลและเริ่มต้นสู่วันใหม่ได้อย่างสดชื่น แต่หากถูกขัดจังหวะระหว่างการนอนหลับอยู่บ่อยครั้ง ประสิทธิในการนอนอาจถูกลดทอนลงไป เป็นผลให้หลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นนอนแล้วไม่กระปรี้กระเปร่าเท่าที่ควร
เรื่องของการนอนต้องคำนึง 2 อย่างคือ
- ชั่วโมงการนอน ถ้าจะให้สมบูรณ์แบบควรนอนให้ได้ 7 – 8 ชั่วโมง แต่ละวัยต้องการจำนวนการนอนจะไม่เท่ากัน ชั่วโมงการนอนของเด็ก 11 – 13 ชั่วโมง ผู้ใหญ่ 7 – 8 ชั่วโมง
- คุณภาพการหลับ การหลับอย่างมีคุณภาพ คือ ครบวงจรทุกระยะการหลับ ทั้งหลับตื้น หลับลึก และหลับฝัน ให้ครบทุกระยะเพราะมีความสัมพันธ์กัน
และในบทความนี้เราจะมานำเสนอเรื่องของการจัดห้องอย่างไรเพื่อให้บรรลุจุดสูงสุดของการนอนกันครับ
ปัญหาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับยาก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น ในวัยรุ่นหรือวัยทำงานอาจมีปัญหานอนไม่หลับได้เช่นกัน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดสะสม การพักผ่อนไม่ตรงเวลานาน ๆ จนระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติ ความไวต่อแสงและเสียงรบกวนที่อาจทำให้สะดุ้งตื่นง่าย หรือบรรยากาศในห้องนอนไม่เหมาะสมมีสิ่งรบกวนทำให้นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ แต่ถ้าเราลองจัดสภาพแวดล้อมในห้องใหม่ จะช่วยให้ห้องนอนกลายเป็นสวรรค์ของการพักผ่อนได้ง่าย ๆ ด้วย เคล็ดลับนี้ครับ
ตำแหน่งเตียงในห้องนอน
ตำแหน่งเตียงนอนที่เหมาะสม ควรจัดวางไว้ในพื้นที่โปร่งอย่างพอเหมาะ ไม่คับแคบหรือกว้างจนเกินไป หัวเตียงนอนควรเป็นผนังทึบหรือผนังหัวเตียงโดยเฉพาะ ระยะการวางเตียงไม่ควรตั้งอยู่ใกล้ประตูห้องนอนและประตูห้องน้ำในห้องนอน เพราะอาจส่งผลกับเสียงรบกวนและความชื้นที่ได้รับจากห้องน้ำ
อีกจุดที่ควรเลี่ยงคือการวางเตียงตรงข้ามกับเครื่องปรับอากาศ ด้วยลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศที่เป่าลงบนเตียงดโยตรงอาจส่งผลให้ป่วยและหายใจติดขัด และสะดุ้งตื่นกลางดึกได้ หากห้องไหนยังไม่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ แนะนำให้ติดไว้ด้านข้างเตียงโดยให้เยื้องไปทางปลายเท้าครับ
แสงสว่างที่เหมาะสม
สำหรับคนที่ไวต่อแสง แสงสว่างที่จ้าเกินไปจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือโทรทัศน์ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่รบกวนการนอนหลับได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะกับคนที่มีปัญหาปวดศีรษะจากไมเกรน ไม่ควรให้มีจุดแสงเหล่านี้อยู่ในห้องนอน ดังนั้นจึงควรปิดไฟในห้องนอน ปิดแสงจากโทรศัพท์ ดึงปลั๊กโทรทัศน์ หรือหาม่านมาติดบริเวณหน้าต่างห้องนอนเพื่อกันแสงจากภายนอก สำหรับคนที่ไม่ชอบความมืดข้อนี้พออนุโลมได้ด้วยการใช้โคมไฟสีวอร์มที่หรี่แสงให้พอสลัวๆ เพื่อไม่ให้แสงไฟเป็นอุปสรรคต่อการนอน
เลือกสีห้องนอนที่ชวนผ่อนคลาย
สีที่เข้มโทนร้อนและให้ความรู้สึกรุนแรง อย่างเช่น สีแดงหรือสีส้มสด ๆ หรือการใช้เฉดสีเยอะเกินไปจะกระตุ้นความรู้สึกมากเกินไปจนมีผลต่อการนอนได้ สีในห้องนอนจึงควรเลือกโทนเย็นอ่อน ๆ ดูเบาสบายตา สีที่ดูอบอุ่น จะช่วยปรับสมดุลย์ให้อารมณ์ของผู้นอนคงที่ เช่น สีฟ้าอ่อน สีครีม สีเขียว หรือม่วงอ่อน ๆ จะใช้สีพื้นทั้งห้องหรือตกแต่งด้วยวอลล์เปเปอร์ก็ได้ แต่ถ้ามีลวดลายควรเลือกติดผนังข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น ไม่ควรติดรอบห้องเพราะจะทำให้ดูวุ่นวายเกินไป
อุณหภูมิภายในห้องที่พอดี
สภาวะอยู่สบาย เป็นสภาวะที่ไม่ร้อนหรือหนาวเย็นจนเกินไป โชคดีที่บ้านยุคปัจจุบันสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ง่ายขึ้นด้วยเครื่องปรับอากาศที่เลือกระดับความเย็นได้ตามต้องการ โดยปกติอุณหภูมิที่พอดีจะประมาณ 25-28 องศาเซลเซียส แต่ทั้งนี้ความเย็นที่เหมาะสมแต่ละคนนั้นอาจแตกต่างกัน แต่สำหรับคนที่ขี้หนาวหากอยู่ในห้องที่อุณหภูมิต่ำจะหนาวมากกว่าคนปกติและทำให้ขับปัสสาวะบ่อยขึ้น อย่างไรก็ตามควรเลือกเครื่องปรับอากาศที่รักษาระดับเสียงและระดับอุณหภูมิให้เหมาะสมอยู่เสมอจะทำให้การพักผ่อนไม่ขาดช่วง
ลดเสียงรบกวน
สำหรับคนที่ไวต่อเสียง แม้ว่าจะเป็นเสียงเล็กน้อยก็ทำให้รำคาญและสะดุ้งตื่นได้ง่าย เช่น เสียงโทรศัพท์ เสียงปิด-เปิดประตู หรือเสียงเตียงยามพลิกตัว การแก้ไขอาจทำได้โดย การใช้ white noise คือเสียงที่ราบเรียบ มีความถี่สม่ำเสมอ อย่าง เสียงพัดลม เครื่องปรับอากาศ เสียงฝน จะช่วยกลบเสียงรบกวนในตอนกลางคืน หรือจะใช้วิธีขยับเตียงให้ห่างจากกำแพง เลือกใช้เตียงและฟูกที่ลดเสียงลดแรงสั่นสะเทือนจากคนข้าง ๆ ทำหน้าต่างแบบสองชั้นหรือหน้าต่างทึบเพื่อป้องกันเสียงจากถนน หรือถ้าไวต่อเสียงมาก ๆ แล้วอยู่ใกล้แหล่งชุมชนอาจต้องใช้ Acoustic panels มาช่วยลดเสียงรบกวนลง คราวนี้ห้องจะเงียบแบบที่ไม่เคยรู้สึกกันทีเดียว
เติมกลิ่นหอมบ้าง
กลิ่นหอมจากดอกไม้ น้ำมันหอมระเหยไม่ได้ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีผลต่ออารมณ์ ช่วยเพิ่มความรู้สึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ บรรเทาความเครียด อย่างเช่น กลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นส้ม กลิ่นคาโมมายล์ ที่มีคุณสมบัติช่วย เพิ่มความสดชื่นแจ่มใส ทำให้หลับสบายยิ่งขึ้น
ที่นอนที่เหมาะกับสรีระ
อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่มีผลกระทบกับการนอนโดยตรง เนื่องด้วยที่นอนเป็นส่วนที่ต้องสัมผัสกับร่างกายตลอดระยะเวลานอน การใส่ใจเลือกที่นอนจึงสำคัญมาก เพราะยิ่งเลือกที่นอนได้เหมาะสมกับผู้นอนมากเท่าไหร่ ยิ่งมีสุขภาพดีขึ้นมากเท่านั้น ที่นอนที่ดีควรโอบรับกับสรีระ และตรงกับความต้องการใช้งาน เช่น ความกว้างพอเหมาะให้เปลี่ยนท่านอนได้สบาย ผิวสัมผัสนุ่ม ระบายความร้อนได้ดีไม่ร้อนหลัง บางท่านอายุมาก หรือน้ำหนักตัวมากทำให้ปวดหลังง่าย ต้องใช้ที่นอนที่ไม่แข็งและไม่นุ่มเกินไปอย่างที่นอนยางพารา ซึ่งมีผิวสัมผัสที่ยืดหยุ่น ช่วยประคองสรีระได้ดีจะช่วยลดอาการปวดหลังได้มาก
จะดีกว่าไหมถ้าเราไม่ต้องกังวลก่อนหลับว่าจะมาทำงานไม่ทัน แต่มีที่พักใกล้ที่ทำงาน อย่าง ฟินน์คอนโด ไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปวนหาที่จอดรถ ไม่ต้องเสียเวลากับการใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนนานๆ แม้งานจะยุ่งแค่ไหนก็ใช้เวลาไม่กี่นาทีเพื่อกลับถึงที่พักเพื่อพักผ่อน ซึ่งการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพเริ่มต้นด้วยการนอนหลับอย่างมีคุณภาพครับ